จากแรงบันดาลใจง่ายๆ ที่อยากทำให้ท้องทะเลสะอาด สู่การประดิษฐ์โครงสร้างที่จะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ลอยน้ำที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์และจะแก้ไขปัญหาที่ผู้ใหญ่หลายคนพยายามแก้มาเป็นสิบๆ ปี อะไรทำให้เด็กอายุ 19 ปี สร้างสิ่งใหญ่โตและระดมทุนกว่า 7.6 พันล้านบาทได้ในระยะเวลาเพียง 100 วัน? iUrban ขอนำเสนอเรื่องของเด็ก คนหนึ่งและโครงการพันล้านของเขา ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจค่ะ
คุณคิดว่าขยะที่มนุษย์เราทิ้งลงทะเลไปอยู่ไหน?
เชื่อไหมว่า? ในแต่ละปี มนุษย์ทิ้งขยะพลาสติกกว่า 300 ล้านตัน
เชื่อไหมว่า? ในแต่ละปี นกทะเลกว่า 1 ล้านตัวต้องตายด้วยขยะพลาสติกเหล่านั้น
เชื่อไหมว่า? ในแต่ละปี มีสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก
เชื่อไหมว่า? ในแต่ละปี ที่มีการทิ้งขยะพลาสติกในแนวชายฝั่ง ขยะชิ้นนั้นจะใช้เวลาเดินทางกว่า 50 ปีไปอยู่กลางมหาสมุทร และแน่นอนว่า เราไม่มีทางรู้เลย
เชื่อไหมว่า? ทุกวันนี้ มีขยะพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้น ลอยอยู่กลางมหาสมุทร ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลและถูกคำนวณไว้ว่าต้องใช้เวลากว่าพันปีในการล่องเรือเก็บ
ในปี 2011 เด็กหนุ่มวัย 16 ปี Boyan Slat นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace Engineer) จากเนเธอแลนด์ ได้ไปท่องเที่ยวทะเลชายฝั่งประเทศกรีซ ในขณะที่เขาดำน้ำอยู่นั้นก็พบว่า.. ท่ามกลางทะเลสีฟ้าใสสะอาด เขากลับนับจำนวนปลาได้น้อยกว่าขยะพลาสติกเสียอีก..
Boyan จึงได้เก็บเรื่องนี้มาเป็นแรงพลักดัน ในการหาวิธีที่ง่ายและได้ผลจริง ในการกำจัดขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุดออกจากทะเล เขาลงมือศึกษามหาสมุทรจริงๆ ทั้งด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต เขาพบสิ่งที่นักสมุทรศาสตร์เรียกกันว่า gyres ซึ่งก็คือวังวนของน้ำในมหาสมุทร ที่ผิวน้ำจะเคลื่อนที่ไปเป็นวง อันเนื่องมาจากกระแสลม กระแสน้ำ และภูมิประเทศ ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ลอยไปกับน้ำ ก็มักจะเดินทางไปกับ gyres นี่ด้วย เช่นเหล่าแพลงตอนต่างๆ
เพราะทะเลไม่ได้หยุดนิ่ง
อุปสรรคต่อการเก็บขยะพลาสติกนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องจำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีเรื่องการเคลื่อนที่ เพราะน้ำทะเลไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีการเคลื่อนที่ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง สารอาหารจากกลางทะเลลึกจะค่อยๆ เดินทางไปตามเส้นทางน้ำ ค่อยๆโผล่พ้นน้ำและลอยมาสู่ชายฝั่ง กระทบริมฝั่ง จากนั้นจะเคลื่อนตัวหวนกลับคืนสู่ทะเลในอีกเส้นทาง พวกมันจะเดินทางอย่างเชื่องช้าเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะมาถึงและค่อยๆ จมลงที่ตรงใจกลาง gyres นี้เอง ซึ่งกระบวนการจนมาถึงจุดนี้ต้องใช้เวลานับสิบปีและวนเวียนต่อไปเรื่อยๆ
น้ำจะเดินทางจากจุดหนึ่งสู่อีกจุด จากทะเลหนึ่งสู่อีกทะเล ขึ้นสูง ลงต่ำ ตามอุณหภูมิ ตามเส้นทางตัวเอง ซึ่งจะใช้เวลาถึง 1,000 ปีจึงจะครบ 1 รอบ ทำให้ขยะพลาสติกต่างๆ ที่เราทิ้ง ไม่ได้กองอยู่ที่ชายหาดให้เราเดินตามเก็บง่ายๆ หรืออยู่ให้เราตระหนักว่ามันมีจำนวนเท่าไหร่ เพราะเพียงไม่นาน มันก็หายลับจากตาเราไปแล้ว นอกจากอุปสรรคด้านจำนวนและการเคลื่อนที่แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องจำนวนทุนที่ต้องใช้จัดการ และที่สำคัญการไปเก็บนั้น บางทีก็เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศมากกว่าปล่อยไว้แบบนั้นก่อนด้วยซ้ำ เพราะเครื่องมือที่หลายคนช่วยกันคิดค้น อาจทำให้สัตว์น้ำเช่นเต่าทะเล นก และปลาตายได้
แต่ขยะพลาสติกนั้น แม้จะมีจำนวนมาก หลายสี หลายรูปแบบ หลายประเภท แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ..มันลอยน้ำ
พลิกวิกฤติ เป็นโอกาส กับนวัตกรรมจากมันสมองเด็ก
จากเรื่องกระแสน้ำวนหรือ gyres นั้น Boyan จึงปิ๊งไอเดีย! เขาพบว่าขยะจำนวนมหาศาลจะลอยไปเป็นแพกลาง gyres เนื่องจากพลาสติกเหล่านั้น ไม่สามารถจะจมลงไปพร้อมกับน้ำที่พามันมาจากชายฝั่งได้ ทำให้ขยะทุกชิ้นจากชายฝั่งรอบๆ นั้น จะลอยตามกระแสน้ำ แล้วมาลอยหยุดนิ่งเป็นแพกันหมดซึ่งถูกเรียกว่า Ocean Garbage Patches
ภาพเคลื่อนไหวแสดงการไหลของขยะพลาสติกโดยนาซ่า ในระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา (ดูวิดีโอท้ายบทความ)
ไอเดียกำจัดขยะง่ายๆ แต่ได้ผล
และวิธีที่เขาคิดก็แสนจะเรียบง่าย เหมือนที่คนไทยใช้กับผักตบชวา! นั่นก็คือสร้างทุ่นลอยน้ำพร้อมกับแขน ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถพาตัวเองดำน้ำได้ ก็จะลอยติดกับแขนนั้น กระแสน้ำจะพัดพวกมันเข้าสู่กระบวนการต่อไป ส่วนสัตว์น้ำที่มาพร้อมๆ กัน ก็จะสามารถมุดผ่านไปได้เลย ง่ายๆ แค่นี้เอง!
ไม่ใช่แค่คิด แต่ลงมือเลย
เขาเริ่มออกแบบทุ่นลอยน้ำอยู่กับที่ ที่ใช้กระแสน้ำและกำลังลมพัดพาขยะพลาสติกเข้าสู่แขนรูปตัว V ยาว 100 กิโลเมตร ทำให้สามารถดักจับขยะได้ถึง 3 เมตรจากระดับผิวน้ำ โดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย และไม่สร้างความเสียหายต่อชีวิตในผืนน้ำอีกด้วย เพียงแค่วางให้ถูกจุด เราก็ไม่ต้องไปออกแรงตามเก็บ แค่รอให้กระแสน้ำพัดมาหาเราเอง
ทุนกำจัดขยะเพียง 167 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2012 เขาได้ขึ้นพูดเพื่อนำเสนอไอเดียนี้ที่งาน TEDx Talk ประเทศเนเธอร์แลนด์ กับโครงสร้างกว้าง 100 กิโลเมตร ที่จะกำจัดขยะในมหาสมุทรได้ถึง 42% ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 70,320,000 กิโลกรัม (70 ล้านกิโลกรัม) ที่กำลังล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรมานานนับทศวรรต ซึ่งวิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4.53 ยูโรต่อกิโลกรัม (ราว 167 บาท) เท่านั้น คิดเป็น 3% เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ก่อนหน้า การพูดครั้งนี้ส่งผลให้มีคนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม เกิดกระแสไวรัลทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนทางการเงินรวมทั้งได้คนมาร่วมทีมนับร้อยคน
ปี 2013 เขาตัดสินใจพักการเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อมาก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup อย่างเป็นทางการ โดยทำหน้าที่บริหารงานเองทั้งหมดอย่างเต็มตัว
เมื่อก้าวแล้ว ก็ไม่ถอย
จากนั้น ในปี 2014 ด้วยฝีมือเขาและเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ร่วมทีมกว่า 100 คน “เครื่องกำจัดขยะรุ่นทดสอบ” เครื่องแรกขนาด 40 เมตร ก็ได้ฤกษ์ลอยตัวสู่ผิวน้ำ ใกล้เกาะ Azores ในเดือนมีนาคมปีนั้นเอง อีกสามเดือนให้หลัง พวกเขาได้ร่วมกันเขียนรายงาน 530 หน้าถึง “ความเป็นไปได้ที่จะทำความสะอาดทะเลจากขยะพลาสติก โดยไม่สร้างความเสียหายต่อชีวิตในท้องทะเล” โดยมีเป้าหมายจะกำจัดแพขยะกลางทะเลแปซิฟิคในเวลา 10 ปี ในชื่อ “INDICATING THE CONCEPT IS LIKELY A VIABLE WAY TO CLEAN UP HALF THE GREAT PACIFIC GARBAGE PATCH”
หลังการเผยแพร่รายงานนี้ Boyan Slat ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากนักลงทุนกว่า 38,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก เป็นเงินถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียง 100 วันเท่านั้น ทำให้ขณะนี้ พวกเขากำลังดำเนินการระยะ 2 ด้วยการติดตั้งเครื่องที่มีใหญ่ขึ้น ซึ่งมีขนาดถึง 2 กิโลเมตร ที่ประเทศญี่ปุ่น เครื่องกำจัดขยะนี้จะทำสถิติ โครงสร้างลอยน้ำจากฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลก (แต่ยังห่างไกลจาก 100 กิโลเมตรที่ต้องการอยู่ กระนั้นก็ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่อีกก้าวหนึ่ง เพื่อจะให้ถึงเป้าหมายในอนาคต)
ในขณะเดียวกันทีมงานบางส่วนก็ได้ล่องเรือไปยัง North Atlantic Gyre เพื่อสำรวจความเป็นไปได้เพิ่มเติมเป็นระยะๆ กับโปรเจคใหม่ที่กำลังทำเป็นปฏิบัติการคู่ขนานที่มีหน้าที่ติดตามการลอยน้ำของขยะพลาสติก
โดยโครงการนี้คาดหมายว่าจะเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบได้ในปี 2020
อย่างไรก็ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักว่าขยะพลาสติกนั้น ใช้เวลากว่า 50 ปีในการเดินทางจากชายฝั่งสู่ใจกลาง gyres นั่นหมายความว่า ขยะที่เรากำจัดในวันนี้เป็นของราว 50 ปีที่แล้วและเมื่อเมื่อถึงวันที่ที่เรากำจัดหมดแล้ว ขยะล็อตใหม่ก็จะมาอีก ขยะของเมื่อวาน ขยะของวันนี้.. ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ Boyan ย้ำกับพวกเราคือ “การแก้ที่ดีที่สุดคือการแก้ที่ต้นทาง แก้ที่เรา แก้ที่การเลิกทิ้งตั้งแต่แรก” เพราะกว่าจะตามเก็บได้ มันใช้ระยะเวลามากเหลือเกิน
จากเพียงไอเดียแรกที่โดนกล่าวหาว่าเป็นเพียงโครงการโรงเรียนมัธยมเท่านั้น สู่การระดมทุนและกำลังจะช่วยเหลือโลกใบนี้ ฉะนั้นแล้วอย่าดูถูกไอเดียตัวเอง iurban ขอสนับสนุนให้ผู้อ่านทุกท่านร่วมกันสร้างไอเดียและศึกษาความเป็นไปได้ให้กับบ้านของพวกเรา เหมือนเช่นหนุ่มน้อย Boyan Slat คนนี้นะคะ
….
ปี 2015 Boyan ได้รับรางวัล London’s Design Museum′s Design of the Year awards ในฐานะผลงานออกแบบที่สร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงแห่งปี ชนะรางวัล Fast Company’s 2015 Innovation by Design award และถูกเลือกให้เป็น 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ในปี 2015 โดยนิตยสาร TIME
Boyan Slat ได้รับการยอมรับให้เป็น 1 ใน 20 ผู้ประกอบการเยาวชนอันป็นความหวังของโลก (Promising Young Entrepreneurs Worldwide) และเป็น Champion of the Earth ประจำปี 2014 จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติในด้านแรงบันดาลใจและลงมือทำ และรางวัลประกาศเกียรติคุณอีกต่างๆ มากมาย
ที่มา
- World’s largest ocean cleanup operation one step closer to launch
- Too good to be true? The Ocean Cleanup Project faces feasibility questions
- http://ecowatch.com/2015/04/08/boyan-slat-ocean-cleanup-plastic/
- (วิดีโอ) Nasa animation shows how vast ‘garbage islands’ have taken over the seas in the last 35 years