NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 13 - Cloud

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก

NAS คือ Network Attached Storage มีขนาดและพื้นที่จัดเก็บของมันใหญ่กว่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์เดียวกัน ซึ่งทำให้ NAS เป็นทางเลือกที่ดีในการจัดเก็บข้อมูลและการแชร์ข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ในแบบเครือข่ายและในบ้าน ดังนั้นก่อนที่จะซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก ลูกค้าควรรู้เรื่อง NAS ก่อน ทั้งค่าใช้จ่ายและข้อจำกัด เพื่อให้ทราบว่ามันคืออะไรแล้วใช้งานในทางใดบ้าง และนำมาใช้ในงานอะไรบ้าง

ผู้คนเริ่มมาสนใจว่า NAS คืออะไร และเทคโนโลยีของ NAS Storage ยิ่งกว่าเดิม ทั้ง NAS Synology และ QNAP หลังจาก Google Photos เริ่มเก็บเงิน ทำให้หลายคนอาจรู้สึกถึงความไม่จริงใจของ Google ว่าทำไมไม่เก็บแต่แรกและเริ่มมองหาทางเลือกในการ backup รูปภาพใหม่ๆ

NAS จึงเป็นทางเลือกนึงที่น่าสนใจมากสำหรับปี 2023 ส่วนหนึ่งก็เพราะเน็ตบ้านเริ่มมี Upload Speed ที่แรงจนตั้ง NAS หรือ server ไว้ในบ้านกันได้มากขึ้น

iURBAN เริ่มใช้ NAS Synology ในออฟฟิศมา 2 ปี เราเองก็ปลื้มมากเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ช่วยงานเยอะ ยังมีหลายอย่างที่คนยังเข้าใจผิดอยู่ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

สรุป NAS คือยังไง สำหรับคนไม่มีเวลา
ทั้ง NAS Synology และ QNAP

  • NAS ใช้ HDD/SSD จึงมีโอกาสเสียแม้จะน้อย จึงยังต้องการแผน Backup ข้อมูลอยู่ดี และทางที่ดีก็คือการ Backup ขึ้น Cloud ร่วมกับการใช้ NAS
  • NAS ที่ระบบไฟล์สมบูรณ์จะเป็นรุ่นที่ใช้ 3 Bays ขึ้นไป ถึงจะใช้ RAID5/SHR ได้
  • NAS แบบ 2 Bays จะสำรองข้อมูลได้แค่แบบ RAID1 (Clone) จึงจะเสียพื้นที่มากถึง 50% ตลอดไป ในขณะที่ RAID5/SHR จะเสีย 25% และน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเพิ่ม Bays
  • NAS ไม่ใช่ทางเลือกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นในการพักและเข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก โดยที่ไม่ต้องเสียพื้นที่บน desktop เพื่อทำการ Sync รวมถึงอีกมากมายความสามารถที่ NAS จะทำได้
  • งบของ NAS รุ่นที่แนะนำเมื่อจัดของจำเป็นเต็มๆ ราคาจะอยู่ประมาณ 52,000 บาท

ข้อเด่น NAS Synology

  • มีแอปพลิเคชั่นจำนวนมาก แปลง NAS ให้เล่นได้หลายท่า ไปทำหลายฟังก์ชันทั้งในตัว NAS เอง และแอปมือถือบน iOS ต่างๆ

ข้อเด่น NAS QNAP

  • มีพอร์ตความเร็วสูงแบบ ThunderBolt ดีสำหรับคนต้องการความเร็วสูงไปตัดต่อวิดีโอ
NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 14 - Cloud
NAS นั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ จากหลายทางเว็บ ทางคอม ทางมือถือ หรือการเชื่อมกับ NAS ตัวอื่น

1. มี NAS Storage แล้วไม่ต้องจ่ายค่า Cloud?

เข้าใจผิดมากที่สุดน่าจะเรื่องนี้ หลายคนคิดว่า NAS จะมาแทน Cloud ได้ถาวร แต่ที่จริงแล้ว NAS กลับต้องการ Cloud มากกว่าเดิมอย่างมหาศาล…Why?

การเก็บข้อมูลบน NAS คือการเก็บบน Physical Drive หรืออุปกรณ์ที่เราสามารถจับต้องได้ อย่าง HDD (Hard Drive) หรือ SSD (Solid State Drive ก็ตาม) จุดอ่อนที่ต่างจาก Cloud คือ มันมีโอกาส “เจ๊ง” ไงล่ะ

แม้ว่าเดี๋ยวนี้ NAS จะมีรูปแบบการจัดการข้อมูลที่สามารถซ่อมแซมไฟล์ตัวเองได้ แต่เมื่อดวงซวยจัดแบบ Harddisk พังทีเดียวทั้งก้อนหรือพังทีเดียวทั้ง NAS – “พังทีเดียวทั้ง NAS เช่น พังทีเดียว 4 ลูกเลยเนี่ยนะ จะเกิดขึ้นได้ไง?” – ได้สิ สำหรับร้านรับซ่อม NAS ที่เจอเคสเยอะๆ เขาก็บอกว่า เจอบ่อยไป

ถึงคุณจะไม่ใช่คนบาปหรือดวงซวยขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโอกาสเหลือ 0% การที่ข้อมูลหายนั่นคือความหายนะขั้นสูงสุดสำหรับธุรกิจ

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 15 - Cloud
NAS Synology มีให้เลือกหลายยี่ห้อ Cloud Backup มาก นี่แค่จากแอปเดียว

ดังนั้นการมี Backup จึงเป็นเรื่องจำเป็น ขนาดที่บน NAS ก็มีแอปพลิเคชั่นสำหรับการ Backup ไว้ให้เลือกมากมายหลายตัว รวมถึงการ Backup บน Cloud หลากหลายยี่ห้อ ซึ่ง Cloud Backup จัดเป็นการ backup สำหรับ NAS ที่เหนียวที่สุด เพราะข้อมูลไม่มีวันหายไป ยกเว้นคุณจะซื้อบริการบริษัทที่ไร้ที่มาแล้ววันนึงปิดบริการหายไปดื้อๆ แต่มันก็คงไม่เกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่ HDD พังหรอก

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 16 - Cloud
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายแอปสำหรับ Backup

ดังนั้น NAS ไม่ได้เป็น Solution สำหรับคนอยากประหยัดสักเท่าไหร่นัก ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจกับการเช่า Cloud Storage ระดับ 250GB ตอนใช้ NAS คุณจะต้องมาหา Cloud Storage เพื่อ Backup ระดับ Terabyte แทน ต้องลองคิดว่า ย้ายมาใช้ NAS มันใช่การแก้ปัญหารึเปล่า

แต่ถ้าคุณจะใช้ NAS แค่เก็บรูปหมาแมวถ่ายเล่น ข้อมูลหายก็ไม่เครียดแบบนั้น ไม่ต้อง Backup ก็ได้

ความตลกร้ายคือ พอเราเตือนเรื่อง NAS มีเปอร์เซ็นต์ข้อมูลหาย บางคนก็อาจจะกังวลจนไม่ใช้ NAS แต่ทุกวันนี้ก็เก็บงานบน External Drive !! ซึ่ง HDD/SSD คนละเกรดกับ NAS Level เลย แถมเสี่ยงต่อไฟกระชากทุกครั้งที่เสียบเข้าออก รวมถึงการใช้บน Enviroment ที่ไม่คงที่เหมือนกับ NAS – การเก็บงานบน External Drive นั้นเสี่ยงกว่า NAS มากๆ ใช่ไหมครับ?

2. NAS คือ Server ดีๆ นี่เอง
ค่าใช้จ่ายจริงทำ NAS Storage ให้ดีก็สูงนะ

งบราว Macbook สักเครื่องได้

NAS มีรุ่นเริ่มต้นให้คุณซื้อง่ายๆ แบบ 2 Bays (2 HDD) แต่เมื่อคุณเริ่มศึกษาระบบ RAID จะพบว่า 2 Bays นั้นไม่สามารถทำระบบซ่อมแซมไฟล์อัตโนมัติที่สมบูรณ์ได้ 2 Bays นั้นทำได้คือ ใช้ 1 Bays + Backup 1 Bay

พูดง่ายๆ ว่า ข้อดีมันไม่ได้ต่างจากเอา External Harddisk ไปจิ้มกับ WIFI Router สักเท่าไหร่

ซื้อ NAS อะไรดี?

ที่จริงแล้ว NAS เหมือนการเลือกคอมเลย ค่อนข้างกว้างและมีหลายระดับมาก แต่ถ้าฟันธงแนะนำง่ายๆ เราเคยใช้แล้วประทับใจ เหมาะกับธุรกิจก็ลองดู Synology DS920+ ทำไมล่ะ?

การอ่านรุ่นของ Synology

DS920+ คำอธิบายจะอยู่บนชื่อรุ่นอยู่แล้ว เข้าใจง่าย

  • DS = DiskStation เป็นโมเดลแบบวางบนโต๊ะได้ สำหรับใช้งานในบ้านและออฟฟิศ ถ้าเป็น RS = Rack Server จะเป็นโมเดลวางบนตู้ Server ซึ่งที่จริงมีซีรีส์อื่นอีก แต่ดูแค่ DS ก็พอ
  • 920 แบ่งเป็น 9 / 20
  • 9 = โมเดลนี้สามารถขยายได้สูงสุด 9 Bays แม้ว่าที่เห็นจะมีแค่ 4 Bays แต่มีตัวขยายซื้อมาต่อเพิ่มได้อีก 5 Bays โดยใช้หน่วยควบคุมจัดการชุดเดียว จะวุ่นวายน้อยกว่าซื้อ NAS 2 ตัว ซึ่งต้องมาดูแลแยกกัน
  • 20 = ปีที่วางจำหน่าย หมายถึง (20)20 ถ้าเป็นรุ่น 918 หมายถึง 9 Bays วางจำหน่ายปี (20)18
  • + มีบวกตามหลัง หมายถึง ซีรีส์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเน้นประสิทธิภาพในการทำงาน และการสเกลเพิ่ม
NAS คือ Server ชนิดนึงนั่นเอง
DS920+ เป็นตัวท็อปในเกรด Freelance – SME ได้เลย

ระบบไฟล์ของ NAS ที่สมบูรณ์สำหรับธุรกิจจะเริ่มต้นที่ 3 Bays ขึ้นไปที่จะให้คุณใช้ข้อดีของ SHR เต็มอัตราสูบ (แต่จะไม่ได้อธิบายตรงนี้ เดี๋ยวยาว) ดังนั้นถ้าจริงจังกับข้อมูลหายหรือใช้ทำงาน ก็ควรข้ามไปรุ่นที่มี 4 Bays เลย ที่ iURBAN เราใช้ Synology DS918+ ซึ่งเราจะลองมาสรุปค่าใช้จ่ายให้ว่าคุณต้องจ่ายจริงเท่าไหร่ สำหรับระบบ NAS ที่ดีแบบ “เจ็บแต่จบ” ของ Synology (ปัจจุบัน DS918+ ไม่มีขายแล้ว เราจึงยก DS920+ มาแนะนำ)

Synology DS920+
฿17,500

  • เลือกตัวท็อปของ NAS เพราะเติม SSD Cache ได้
  • มี 2 LAN ทำ Link Aggregation เพิ่มสปีดได้
  • ได้สเป็คที่สูงกว่าด้าน CPU/RAM ในขณะที่เพิ่มราคาไม่เท่าไหร่ (จ่ายครั้งเดียว) ความแรง CPU ของ NAS ก็จำเป็น เพราะต้องแยกไฟล์ 1 ไฟล์ไปไว้แต่ละที่ แล้วนำมารวมกันอีก เมื่อคุณเรียกใช้ รวมถึงการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ อีกมากมาย
  • Storage สามารถขยายได้สูงสุดถึง 9 Bays ลดความวุ่นวายในอนาคต (ข้อนี้ไม่สำคัญนัก เพราะกว่าจะใช้เต็ม 4 Bays คุณอาจอยากซื้อ NAS รุ่นใหม่แทนก็ได้)

HDD Seagate Iron Wolf 7200RPM – 6TB
฿7,000 x 4 = ฿28,000

  • เลือก Seagate เพราะร้านใหญ่แนะนำว่าเป็น NAS HDD มีอัตราการเคลมต่ำ (อันนี้ก็ฟังเขามานะ ถ้าอยากศึกษาคู่แข่งแล้วมีเสริมก็บอกได้)
  • เลือก Iron Wolf เพราะเป็นเกรด NAS ทนทานกว่า(และแพงกว่า) HDD คอมพิวเตอร์ทั่วไป เอา HDD ธรรมดามาเปิดตลอด 24/7 ไม่ได้นะ พัง
  • ความจุ 6TB เป็นความจุเริ่มต้นสำหรับความเร็วจานหมุน 7200RPM ถ้าซื้อต่ำกว่านี้จะได้แค่ 5400RPM
  • จะซื้อแค่ 2 ลูกแล้วทำ RAID1 ไปก่อนก็ได้ (ใช้ 1 ลูก ก็อปปี้แบ็คอัพ 1 ลูก) อนาคตมีเงินค่อยซื้อเติมก็ได้ แต่ถ้าซื้อแบบ 5400RPM มาแล้ว อนาคตมีตังค์จะเติม 7200RPM ก็ไร้ผล เพราะคอขวดกับลูกที่วิ่งแค่ 5400RPM จึงต้องจัด 6TB เป็นเบส

RAM + SSD Cache

  • เติมทีหลังได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ทีแรก
  • SSD Cache ใช้ M.2 NVMe SSD ใช้ทำ Cache เท่านั้น ดังนั้นเสียก็ไม่กระทบข้อมูลหลัก จึงไม่ต้องเป็น Server Grade เหมือน HDD รอ Shopee/Lazada ลดราคาก็ซื้อ Samsung EVO 970 มาเสียบได้เลย ในระบบจะมีการคำนวนให้ว่า คุณใช้ Disk ความจุเท่านี้ ควรเสียบ SSD Cache ไซส์ไหนถึงจะดีกับ Performance
  • RAM ของ NAS หาซื้อยาก ราคาซื้อตรงกับ NAS ก็ราคาสูง แต่เอาเข้าจริงไม่ต้องเพิ่มก็ได้ถ้าพีคมาก

อื่นๆ ที่มีผลโดยตรง

  • Router พอใช้ NAS จำเป็นต้องเลือก Router ที่คุณภาพดีๆ มีผลกับชีวิตการใช้งาน NAS มากเช่นกัน
  • UPS เครื่องสำรองไฟ จำเป็นมากสำหรับอุปกรณ์ที่เปิดตลอดปีไม่มีปิดเครื่องแบบนี้
  • Internet เลือกแพ็กเกจที่มี Upload สูงจะได้เปรียบ คุณจะสามารถเข้าถึงไฟล์บน NAS ที่บ้านจากข้างนอกได้

งบสรุป NAS

งบเริ่มต้น ไม่รวมระบบ Network
Synology DS920+ ฿17,500
HDD 6TB – Seagate Iron Wolf 7200RPM x 2 (฿7,000×2) = ฿14,000
UPS ฿2,000
= ฿33,500
ได้พื้นที่ 6TB x (2 Bays – 1 Backup) = 6TB (RAID1)

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 17 - Cloud
งบจบมี SSD ด้วยและใส่ HDD 4 Bays ราวๆ นี้

งบจบ ไม่รวมระบบ Network
Synology DS920+ ฿17,500
HDD 6TB – Seagate Iron Wolf 7200RPM x 4 (7,000×4) = ฿28,000
SSD Samsung Evo 970 (500GB ราคาคุ้ม) x 2 (2,000×2) = ฿4,000
UPS ฿2,550
= ฿52,050
ได้พื้นที่ 6TB x (4 Bays – 1 Backup) = 18TB (RAID5/SHR)

Why 4 Bays?

เมื่อมี 3-4 Bays เราจะสามารถใช้การจัดข้อมูลแบบ RAID5 หรือ SHR ได้ ไม่ว่ามี Bays เยอะแค่ไหน เราจะสูญเสียพื้นที่เพื่อ backup เพียง 1 Bays และเมื่อเทียบจากทั้งหมด 4 Bays = สูญเสียเพียง 25%

แต่ถ้าหากใช้ 2 Bays เราจะใช้ได้เพียง RAID1 ซึ่งไม่ว่ามี Bay เท่าไหร่ จะสูญเสียถึง 50%

3 Bays+ จึงคุ้มค่าทั้งลดการสูญเสีย
และลดความเสี่ยงข้อมูลหายอีกด้วย

ที่จริงเรื่องนี้แนะนำสั้นๆ ให้เห็นภาพยาก แนะนำเสิร์จ Google เกี่ยวกับ RAID1 RAID5 และ SHR และซ้อมคำนวนการสูญเสียได้ที่ synology.com

3. NAS ใช้ตัดต่อ Video ไม่ได้นะ

Video Editor จะต้องการพื้นที่เก็บไฟล์มากกว่าอาชีพอื่น โดยเฉพาะในยุค 4K 10bits แบบนี้ หากคิดจะนำ NAS มาใช้ Library เพื่อตัดต่อต้องล้มความคิดเพราะทำไม่ได้ อ้างอิงจาก Final Cut Pro X ไม่อนุญาตให้ทำเลย เพราะ Network ผ่าน LAN ไม่เร็วและไม่เสถียรพอ

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 18 - Cloud
ถ้าเปิด Library ที่อยู่บน NAS แอปพลิเคชัน Final Cut Pro จะแจ้งแบบนี้เลย

แม้อาชีพอื่นจะใช้ NAS เปิดไฟล์เร็วปรู๊ดปร๊าดเหมือนอยู่บนเครื่องตัวเอง แต่สำหรับงานตัดต่อวิดีโอเชื่อเถอะว่ามันไม่เร็วพอ หงุดหงิดและเผางานไม่ทันแน่ๆ ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ NAS ได้เพียงเป็นที่สต็อกไฟล์ แต่ตัดต่อบน NAS ทันทีเลยไม่ได้

ยกเว้น! ThunderBolt3 NAS ของ QNAP

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 19 - Cloud

NAS ค่ายอเมริกาอย่าง QNAP ที่ทำพอร์ตเชื่อมต่อแบบ ThunderBolt3 อย่างรุ่น QNAP TVS-472XT ขึ้นไปที่มีทั้ง SSD Cache และ ThunderBolt3

ข้อเสียคือ ราคาเฉพาะบอดี้เริ่มต้นอย่างจุกที่ ฿58,600 (ได้แค่ Dual Core CPU) และสาย ThunderBolt3 นั้นสั้น จึงสามารถทำความเร็วด้วยการวางให้ติดกับเครื่องตัดต่อได้เพียงเครื่องเดียว และสุดท้ายเมื่อผสมกับการทำ SSD Cache แล้วก็ได้สปีดเพียง 1,024 MB/s เท่านั้นเอง เพราะมันยังเบสอยู่บน HDD

4. SSD กับ NAS, Why Not?

ที่ SSD ในวงการ NAS ยังไม่นิยมเป็นเพราะ

  • เพิ่งมี SSD สำหรับ NAS แบบเปิดใช้งานตลอด 24/7 มาไม่นานนี้นี่เอง ว่ากันตามตรง แม้แต่คนต้องการความเร็วก็ยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ เพราะถ้า SSD พังคือมันไปหมด และความใหม่ของเทคโนโลยีกับงานระดับ NAS/Server เขาก็ไม่ค่อยนิยมใช้ของสด ส่วนมากจะเลือกที่ Stability มากกว่า
  • ความจุสูงสุดได้เพียง 4TB และก็หาซื้อยาก ร้านแทบไม่มี ร้าน JIB มีขายแค่ 2TB – สำหรับ HDD มีสูงสุดถึง 18TB
  • ราคาแพงจุกๆ SEAGATE IRONWOLF 110 รุ่น 4TB ราคา ฿28,290/ลูก ในขณะที่ NAS HDD IRONWOLF 4TB ราคาเพียง ฿3,890 (เราไม่แนะนำรุ่น 4TB ของ HDD ตามว่าไปด้านบน แต่ SSD ไว้เปรียบมันมีแค่เท่านี้)
  • ได้ความเร็วเพียง 560 MB/s

สำหรับวงการ NAS ทั่วไปจนถึงธุรกิจ SME จึงเลือกจะใช้ SSD Cache มากกว่า

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 20 - Cloud
ลดคอขวด I/O ของ HDD ด้วยการทำ SSD Cache

SSD Cache

SSD Cache จะเป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่ในรุ่นที่แพงขึ้นมาหน่อยอย่าง DS918+ / DS920+ จะมีฟีเจอร์ที่ใช้ SSD ความเร็วระดับ M.2 NVME มาช่วย Cache ไฟล์ที่เรียกใช้งานบ่อยเก็บไว้ใน SSD ในทางการใช้งานก็ฟังดูดี

จากการใช้งานจริง NAS ของทีมงาน iURBAN เราใช้ SSD Cache ด้วย Samsung Evo 970 ซึ่งเป็นรุ่นที่ให้ Read/Write Speed คุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด ณ วันที่ซื้อความจุ 256GB จัดโปรอยู่พอดี และระบบก็บอกว่าเพียงพอต่อการใช้งาน จัดไป x 2 ตัว สามารถเลือกได้ว่า Cache เฉพาะ Read หรือ Read/Write ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นความแตกต่างชัดเจน

แต่การเปิดไฟล์ และการทำงานร่วมกับ NAS นั้นลื่นขึ้นอย่างรู้สึกได้ จึงเป็นฟีเจอร์ที่ค่อนข้างแนะนำว่า ถ้ามีโอกาสก็อัพไปรุ่นที่มี SSD Cache ได้ไปเลย แม้เราจะไม่ได้สปีดเต็มๆ ของ SSD เพราะสุดท้ายแล้วจะโดนคอขวดสปีดที่ LAN Port / Router อยู่ดี

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 21 - Cloud
หน้าตา Storage Manager ส่วนของ SSD Cache สามารถบอกสถานะต่างๆ และ Hit Rate ได้

5. รู้จัก Link Aggregation

เมื่อเราดูสเป็คจะทราบว่า LAN ของ NAS นั้นจะมีสปีดเพียง 1Gbps (1,000 Mbps) ดังนั้นแม้จะมี SSD Cache ที่เร็ว 2,000+ ไปก็เท่านั้น ถ้าอยากเร็วกว่านี้ในวงการเน็ตเวิร์คมีคำว่า Link Aggregation คือการใช้พอร์ต LAN 2 Ports รวมสปีดเข้าด้วยกันได้ เช่น จาก 1Gbps จะกลายเป็น 2 Gbps โดยประมาณ (ของจริงคงดรอปลงอีก)

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 22 - Cloud
หน้า Network จะสามารถเซ็ตให้ 2 LAN รวมกันเป็น 1 Bond Connection ได้

แต่ในตลาดโลก WIFI Router ที่มีฟังก์ชั่น Link Aggregation นั้นมีน้อยมาก!! ส่วนมากเขาจะทำ Link Aggregation แต่ขา WAN เพราะมันมีดีมานด์จากพวก Gamer ที่อยากได้เน็ตแรงไม่มีจำกัด แต่สำหรับคนจะเอามาทำ Link Aggregation นั้นก็ต้องมาดู ซึ่ง 98% ของ WIFI Router ในตลาดนั้นทำไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่สมบูรณ์

6. Physical Drive มีอายุการใช้งานนะ

แม้ว่าจะเป็น HDD/SSD เกรด NAS/Server ถึงวันนึงก็ต้องลาโลก ต้องเข้าใจเรื่องนี้ไว้ด้วย ยกตัวอย่างจากประกันข้อมูลสูญหายของ Seagate Iron Wolf ประกันและกู้ให้ฟรีมีระยะที่ 3 ปี ส่วน Product Warranty อยู่ที่ 3 ปี และแบบ Pro ที่ 5 ปี

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 23 - Cloud
นอกจาก IronWolf ยังมี IronWolf Pro และ Exos X ที่ทนทานขึ้นไปอีกระดับ

ส่วน Mean Time Between Failures (MTBF) ระยะเวลาก่อนจะเสียหายเป็นค่าเฉลี่ยที่ค่อนข้างแม่นยำ อยู่ที่ 1 ล้านชั่วโมง (ประมาณ 100 ปีเลยนะ) แต่เอาจริง เราเองก็ไม่หวังว่ามันจะนานขนาดนั้นหรอกมั้ง ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะฝุ่น ความชื้น กระแสไฟฟ้า หลายปัจจัยที่สามารถทำให้ HDD ลดอายุได้อย่างรวดเร็วด้วยอุบัติเหตุต่างๆ และสุดท้ายก็ ความซวย ก็คือ ความซวย

7. ต้องหาที่วาง NAS ดีๆ

NAS เป็นอุปกรณ์เหมือน Server เครื่องนึงเลย ต้องเปิดทำงาน 24/7 มีพัดลมระบายอากาศซึ่งสุดท้ายก็จะมีฝุ่นมาเกาะ ที่ออฟฟิศ iURBAN เราวาง NAS ไว้บนชั้นไม่มีตู้ใส่ เพื่อระบายอากาศ และห้องไม่ได้เปิดแอร์ตลอดเวลา ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อน แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่น

แม้ที่ออฟฟิศจะมีเครื่องฟอกอากาศอย่างดีมาก และหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำงานวันละ 2-3 เวลา จนแทบไม่เห็นฝุ่นแล้ว เจ้า NAS นี่ก็ยังเก็บฝุ่นอยู่ตามช่องระบายอากาศได้อย่างดีราวกับเป็นเครื่องฟอกอากาศ ดังนั้น ถ้าหากจะซื้อ NAS ก็ต้องคำนึงถึงที่วางด้วย จะช่วยยืดอายุออกไปได้อีก (รวมถึงที่วาง UPS สำหรับ NAS ด้วย)

NAS SYnology DS918+
NAS Synology DS918+ ที่ iURBAN อาจไม่ใช่ตัวอย่างจุดวางที่ดีนัก ใช้วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งไสยศาสตร์นางกวักด้วย :D ใครอยากบัฟเพิ่ม ลองวางกระถางธูปไหว้เจ้าที่แทน HDD อาจเหนียวขึ้น ไม่ก็ฝุ่นจากกระถางธูปเข้าพัดลมไปแทน

8. HDD ทุก Bays ควรเป็นสเป็คเดียวกัน

เพื่อการทำ RAID ต่างๆ สเป็คของ HDD คุณจะต้องตรงกัน รุ่นเดียวกัน ความเร็วเท่ากัน เพื่อลดข้อผิดพลาด ทำให้คุณไม่สามารถซื้อ HDD แค่ 4TB ก่อน แล้วอนาคตค่อยเติม 10TB

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 24 - Cloud
เมื่อใช้ 3 Bays ขึ้นไป สามารถเลือกได้ทั้ง RAID5 หรือ SHR ซึ่งเป็นการจัดเรียงข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับเคสทั่วไปตอนนี้
ภาพประกอบจาก NAS Synology

แต่ทาง NAS ของ Synology ก็ออกแบบการจัดเรียงข้อมูลเองมาที่ชื่อว่า SHR (Synology Hybrid Raid) หนึ่งในข้อดีคือ การใส่ HDD อะไรก็ได้เข้าไป ไม่ต้องตรงกันก็ได้ แต่ถ้าเราสอบถามผู้เชี่ยวชาญก็มักจะให้คำแนะนำว่า ถึงแม้จะทำได้ แต่กันเหนียวด้วยการซื้อสเป็คตรงกันไว้ก่อนดีกว่า เผื่อพลาดวันหนึ่งต้อง migrate / กู้ไฟล์ หรือข้ามระบบไป QNAP หรือ NAS อื่นๆ ก็ยังไม่เป็นปัญหา

9. การจัดเรียง File System ใหม่ ใช้เวลาเป็นวัน

แม้ว่า NAS จะสามารถถอดและใส่ HDD ได้แบบรวดเร็วง่ายดาย แต่เพราะข้อมูลระดับหลาย TB พร้อมกับ CPU ประหยัดพลังงานสเกลนี้ และการไม่มีที่พักข้อมูลระหว่างจัดเรียงใหม่ ทำให้เมื่อต้องปรับเปลี่ยน file system เช่นการเพิ่ม HDD เข้าไปอีกลูก ไม่ใช่เสียบแล้วใช้ได้ทันที แต่จะต้องรอนานหลายชั่วโมง ในบางเคสก็เป็นวันๆ เลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไฟล์ 1 ไฟล์ ไม่ได้เก็บที่ HDD ลูกเดียว ยกตัวอย่าง 4 Bays จะถูกจัดหั่นเป็นท่อนแล้วเก็บไฟล์ไว้ที่ 3 HDD + 1 HDD เพื่อการสำรองข้อมูลเป็นต้น ทำให้เมื่อต้องนำไฟล์เข้าออก หรือการ defragment ก็ตาม จะต้องใช้เวลาในการทำงานนานมาก แต่หน้าที่สำหรับการทำ digital maintenence ต่างๆ ก็สามารถตั้งค่าอัตโนมัติให้ระบบทำงานเองโดยที่เราแค่ดู Status ก็เพียงพอ

แถมอีกนิด

10. NAS คือซื้อให้เริ่มต้นไม่แพงก็ได้

เพราะ Harddisk for NAS มีราคาสูง การซื้อที 4 ลูกเลยอาจกระเป๋าตังค์สั่นได้ นี่เป็นเทคนิคประหยัดเงินสำหรับคนซื้อ NAS Synology แบบ 4 Bays (ไม่เคยลองวิธีนี้กับ QNAP) คือ การซื้อ Disk แค่ 2 ลูกก่อนตอนเริ่ม โดยใช้ RAID1

  • Harddisk (Use)
  • Harddisk (Backup)

เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ พอไฟล์เริ่มเยอะ ในอนาคตค่อยซื้อ Harddisk อีกลูกมาเติม เป็นลูกที่ 3 แล้วปรับจาก RAID1 เป็น RAID5 หรือ SHR

  • Harddisk (Use)
  • Harddisk (Use)
  • Harddisk (Backup)

การเปลี่ยนเป็น RAID5/SHR จะได้ระบบจัดการไฟล์ที่ซ่อมแซมตัวเองได้ ดีกว่า RAID1 สามารถเปลี่ยนทีหลังได้ ทำให้เซฟค่าใช้จ่ายตอนเริ่มไปได้มากเลย

ข้อที่ต้องเตรียมตัว: การเปลี่ยนระบบ RAID นั้นสำคัญมาก

  • เผื่อเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ได้คลิกปุ๊บมาปั๊บ คุณจำเป็นจะต้องเผื่อเวลาที่จะไม่สามารถเข้าถึง NAS ได้ด้วย ตอนที่เราทำ Harddisk 6TB x 2 ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง
  • Backup ต้องพร้อม ไว้บน Cloud หรือที่ไหนก่อนทำ เผื่อผิดพลาดขึ้นมาแล้วแย่เลยนะครับ
  • UPS เช็คสำรองไฟให้ดี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ห้ามไฟดับ ไฟขาด ไฟช็อตนะครับ

สุดท้าย ก็ยังแนะนำ

แม้ว่าจะรีวิวไปแต่ด้านระทึกของการใช้ NAS ส่วนมากนักรีวิวจะรีวิวแต่ด้านดี ชวนให้ซื้อใช้งาน เราจึงต้องอธิบายอีกด้านที่ต้องเตรียมตัวด้วย เพราะ NAS เป็นอุปกรณ์ที่เฉพาะทางมากกว่า External Harddisk แต่สุดท้าย NAS ก็ยังเป็นอุปกรณ์ระดับที่ขาดไม่ได้ สำหรับออฟฟิศที่ทำงานเกี่ยวกับมีเดีย ต้องมีรูปถ่ายและวิดีโอ

จากการใช้ Synology DS918+ มา 2 ปี แบบจัดครบ ก็ยังประทับใจมาก กล้าแนะนำต่อ (ยังไม่เคยลอง QNAP) ในระบบ Synology นั้นฉลาดราวกับเป็นอีกหนึ่ง OS ที่ใช้งานผ่าน Web-Based ที่ละเอียดมาก แถม Synology มีแอปพลิเคชั่นเยอะมากจนใช้ไม่หมด และยังมี Mobile App เป็นสิบรายการ

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 25 - Cloud
แอปพลิเคชั่นจำนวนมาก (สังเกต scrollbar ยังมีอีก) ที่ไว้แปลง NAS ให้ทำงานด้านต่างๆ ได้

ส่วนของการใช้แบ็คอัพรูปแทน Google Photos ก็ยังทำได้ไม่ดี คือ ระบบ Ai ของแอปพลิเคชั่นยังไม่ฉลาดเท่า เน้นแบ่ง folder เองเสียมากกว่า แต่ใน DiskStation Manager 7.0 ที่กำลัง Beta อยู่ขณะนี้ ก็มีแอพใหม่ Synology Photos ที่ดีขึ้นมาก น่าจะพอใช้แทน Google Photos ได้อยู่ระดับหนึ่ง

ถ้าหากเหตุผลของคุณคือเปลี่ยนมาใช้ NAS เพื่อลดค่าใช้จ่ายจาก Google Photos ละก็ เราว่าไม่คุ้ม แต่ถ้าคุณจะย้ายมาใช้ NAS เพื่อการจัดระเบียบไฟล์อย่างเป็นระเบียบจริงจังสำหรับออฟฟิศและการทำงาน มันคุ้มค่ามาก เพราะคุณไม่ต้องเสียพื้นที่บนเครื่องตัวเองไปเหมือนการใช้ Dropbox หรือ Google Drive เมื่อต้องทำงานข้ามเครื่องกัน มันสะดวกและง่ายต่อการจัดการกว่ามาก นอกจากนั้นยังมีแอปพลิเคชั่นอีกมาก เพื่อช่วยการทำให้ NAS ในบ้านของคุณเป็น Home Server อย่างแท้จริง

NAS คือ? 9 สิ่งควรรู้ก่อนซื้อ NAS Synology และ QNAP ที่นักรีวิวไม่ค่อยบอก 28 - Cloud
ทำระบบ File Sharing ให้เหมือน Dropbox ได้ด้วยแอปพลิเคชั่น Drive

คุณสามารถทดลองเล่น Synology NAS ได้ที่นี่
https://demo.synology.com

ข้อดีแบบสรุปที่ทำให้ทีม iURBAN ชอบใช้ NAS

  1. ไม่ต้องใช้พื้นที่ Disk Space บนเครื่อง ไม่เหมือน Dropbox/Google เพราะเราไม่ได้ใช้งานแบบ Sync แต่เราเปิดโฟลเดอร์บน NAS เพื่อเอาไฟล์ไปวางไว้บนนั้นเลย แต่เวลาเรียกใช้บนคอมพิวเตอร์ก็เหมือนแค่เปิดโฟลเดอร์นึงบนเครื่องเรานี่เอง
  2. วางแผนการเงินและลดเวลาทำงาน พอพื้นที่มันใหญ่ เราสามารถเริ่มวางแผนระยะยาวที่จะฝากชีวิตได้แล้ว ไม่เหมือนตอนใช้ Cloud นี่เดี๋ยวก็เต็ม เดี๋ยวก็ต้องจ่ายเพิ่ม ทำให้วางแผนการเงินง่าย และทำให้เรา Organize พวก Files/Folder ได้แบบยั่งยืนมากขึ้น พอเป็นระเบียบปุ๊ป ก็รวดเร็วเวลาจะหาไฟล์ต่างๆ
  3. ง่ายต่องานตัดต่อ แม้ Synology จะไม่มี ThunderBolt3 ให้ใช้ (ตอนนี้ชักสนใจแล้ว) แต่ก็ถือว่าช่วยงานตัดต่อได้เยอะ เพราะเครื่องตัดเราต้องการความเร็วสูงเราจะใช้ SSD ซึ่งพื้นที่มันไม่ได้เยอะนัก ถ้าใช้ระบบ Sync เก็บฟุต 4K แค่งานเดียวคงจะเต็มคอมแล้ว ดังนั้นเราจึงเก็บฟุตไว้บน NAS แล้วต้องการใช้เมื่อไหร่ก็แค่โยกกลับมาบนเครื่องตัดเพื่อให้ได้สปีดเต็มที่เท่านั้นเอง ก็จัดว่าช่วยได้เยอะเลย
  4. แชร์ไฟล์ใหญ่ง่าย เวลาจะแชร์ไฟล์ให้ลูกค้าโปรเจคใหญ่ๆ แม้จะขนาดเป็น Terabyte ก็ไม่มีปัญหา แชร์ Folder นั้นได้เลย สามารถตั้ง Password และเวลาหมดอายุของลิงก์ได้

NAS ก็คือ Server ไม่ใช่ระบบที่ต้องเปลี่ยนกันบ่อยๆ ดังนั้นการลงทุนกับตัวที่ดีพอ อาจทำให้การทำงานของคุณรวดเร็วขึ้นอีกมาก สำหรับยุค WFH หลายธุรกิจมีการทำงานแบบ remote รวมถึงการทำงานแบบ Home Office แล้ว NAS จะยิ่งสำคัญมากขึ้น

ถ้าหากชอบรีวิวของดีๆ กับไลฟ์สไตล์คนเมืองแบบนี้
ฝากกดไลค์ แฟนเพจ iURBAN เพื่อติดตามกันด้วยนะครับ

เว็บเราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ท่านได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ และสามารถเลือกอนุญาตคุกกี้เองได้ที่ ตั้งค่าคุกกี้

Privacy Preferences

เมื่อท่านเข้าชมเว็บไซต์ของเรา อาจมีการจัดเก็บหรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของท่านในรูปแบบของคุกกี้ ข้อมูลนี้อาจเป็นข้อมูลเกี่ยวกับท่าน การตั้งค่าของท่าน อุปกรณ์ของท่าน ซึ่งจะถูกใช้เพื่อทำให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้ตามที่ท่านต้องการ ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ระบุตัวตนของท่านโดยตรง แต่ช่วยให้ท่านสามารถใช้งานเว็บไซต์แบบเฉพาะสำหรับท่านได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของท่าน โดยท่านสามารถเลือกปฏิเสธไม่ยอมรับให้คุกกี้บางประเภททำงานได้ ซึ่งท่านสามารถคลิกที่หัวข้อแต่ละประเภท เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนการตั้งค่าได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกปิดการใช้งานคุกกี้บางประเภทอาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานเว็บไซต์และบริการที่เราเสนอให้แก่ท่านได้ ข้อมูลเพิ่มเติม

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จําเป็นสําหรับการทํางานของเว็บไซต์ (Strictly necessary cookies)
    Always Active

    คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการทำงานของเว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่ทำให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานในเว็บไซต์ของเราได้อย่างปลอดภัย ส่วนนี้จะไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้ที่ช่วยในการใช้งาน (Functional Cookies)

    เราใช้ Cookies ประเภทนี้เพื่อช่วยจดจำอุปกรณ์หรือบราวเซอร์ของท่าน เพื่อให้เราสามารถจัดทำเนื้อหาได้อย่างเหมาะสมกับความสนใจส่วนบุคคลของท่านได้รวดเร็วขึ้น และช่วยให้การบริการและแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกสบายและเป็นประโยชน์ต่อท่านมากยิ่งขึ้น

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์เชิงสถิติ (Analytics Cookies)

    เราใช้ Analytics Cookies ที่ให้บริการโดย Google ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานของท่านบนเว็บไซต์ของเรา โดยข้อมูลนี้ประกอบไปด้วย หน้าเว็บไซต์ที่ท่านเข้าชม ลิงค์ที่ท่านคลิก ระยะเวลาที่ท่านเข้าชมในแต่ละหน้า โดยเราใช้ข้อมูลนี้เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ และเพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    เราใช้คุกกี้ประเภทนี้จดจำการตั้งค่าของท่านในการเข้าใช้งานหน้าเว็บไซต์ หน้าเว็บที่ท่านได้เยี่ยมชม และลิงค์ที่ท่านเยี่ยมชม เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเข้าชมและพฤติกรรมการเยี่ยมชมเว็บไซต์และยังปรับปรุงเว็บไซต์ รวมทั้งเนื้อหาใดๆ ซึ่งปรากฏอยู่บนหน้าเว็บให้ตรงกับความสนใจของท่านมากยิ่งขึ้น และทดสอบความมีประสิทธิภาพของโฆษณาเรา และนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุดเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ เรายังอาจแชร์ข้อมูลนี้ให้กับบุคคลที่สามเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
    Cookies Details

บันทึกการตั้งค่า