ทำไม Taylor Swift ขึ้นปก TIME กบฏหรือนักปฏิวัติวงการขายเพลงดิจิตอล 13 - itune

ทำไม Taylor Swift ขึ้นปก TIME กบฏหรือนักปฏิวัติวงการขายเพลงดิจิตอล

ไม่ได้บ่อยนักที่จะได้เห็นศิลปินคนไหนได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME โดยเฉพาะกับสาวอายุเพียง 24 ปี ที่อาจจะยังไม่เป็นระดับตำนานเหมือนวงร็อคระดับโลกอย่าง Rolling Stones ที่จะมาขึ้นปกนิตยสารใหญ่แบบ TIME ที่เฉพาะคนที่มีอิทธิพลต่อโลกถึงจะได้ขึ้นหน้าปก แต่ถ้ามองข้ามอายุเพียง 24 ปีของเธอ Taylor Swift ก็เป็นไอดอลในใจ ที่ผู้หญิงหลายคนทั่วโลกด้วยความเป็นตัวเอง และการแสดงออกทางความคิดบนผลงาน

You Belong With Me เพลงของ Taylor Swift ที่มีคนดูมากที่สุดถึง 350 ล้านวิว

เว็บเราเองก็ไม่ใช่เว็บที่จะมีกูรูเนื้อหาด้านดนตรีซะด้วย แต่ประเด็นนี้ ไม่ได้เป็นเพียงประเด็นของวงการดนตรีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับ lifestyle ของคนยุคใหม่ ที่ดิจิทัลเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว จากประเด็นสรุป ผมคาดเดาสาเหตุที่เธอได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME รอบนี้ น่าจะเป็นการที่เธอกบฏต่อวงการเพลงดิจิทัล ด้วยการประกาศถอนเพลงออกจากระบบฟังเพลงออนไลน์ที่ใหญ่ระดับโลกอย่าง Spotify

taylor-cover

ในยุคดิจิทัลแบบนี้ วงการเพลงเป็นวงการแรกๆ ที่ต้องขยับตัวอย่างจริงจัง เพื่อการทำธุรกิจให้ทันโลกออนไลน์ ไหนจะแข่งกับเทปผีซีดีเถื่อนไม่พอ ยังต้องแข่งกับไฟล์โหลดเถื่อนที่หาได้ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิ้ก ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการเพลงอย่างรุนแรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อ iTunes ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขายเพลงแบบซื้อขาดรายใหญ่ที่สุดของโลก ลูกค้ามีสิทธินำเพลงที่ซื้อไปฟังต่อที่ไหนก็ได้ ปฏิวัติโลกสู่การค้าแบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว การซื้อมันง่ายเพียงแค่หยิบ iPhone ขึ้นมา เสิร์ชและกดซื้อได้อย่างวู่วาม แถมยังสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงไม่เบา

แม้แต่เพลงไทยในช่วงที่ซีรีย์ Hormones ออกฉาย เพลง “ไม่บอกเธอ” ก็ขึ้นอันดับหนึ่งอยู่ในชาร์จเกือบ 2-3 เดือน เป็นปรากฏการณ์ที่เราจะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ต่างประเทศอีกต่อไป แต่กูรูหลายท่านก็บอกว่า iTunes ไม่ได้ทำลายราคาตลาดเหมือนอย่าง Spotify …

อะไรคือ Spotify?

spotify

Spotify เป็นบริการให้ฟังเพลงได้หลายๆเพลงโดยจ่ายแบบเหมา ทางเทคนิคเรียกว่าการฟังเพลงแบบ streaming บ้าง หรือแบบ cloud ต่างกันกับ iTunes ตรงที่ลูกค้าไม่ได้มีเพลงให้ลงเครื่องกลับบ้านไป ไม่ได้ขายขาด แต่ขายสิทธิในการฟังผ่านออนไลน์ ดัวยคุณภาพระดับสูงเทียมกัน และคนฟังก็จ่ายเป็นค่าบริการให้ Spotify ด้วยราคาเพียงกาแฟแก้วเดียว (แต่แก้ว Starbucks นะ) ก็จะสามารถฟังเพลงลิขสิทธิได้เกือบทั้งโลก ซึ่งบริการพวกนี้ ก็ไม่ได้มีแค่ Spotify ยังมีอีกหลายเจ้าเช่น Pandora, Deezer (ที่ DTAC พยายามดีลเข้ามา), Beats Music, KKBox (ที่ AIS พยายามดีลเข้ามา) ซึ่งบริการเหล่านี้มองเห็นช่องทางราคา ที่จะทำให้คนที่ชอบฟังเพลงก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามากขึ้น คือจ่ายแค่นิดเดียวเอง แต่เพลงให้ฟังเยอะกว่าการเอาเงินไปซื้อ iTunes ตั้งเยอะ และก็ทำถูกกฎหมาย แต่ในแง่ของศิลปินอย่าง Taylor Swift กลับตรงกันข้าม เพราะเธอบอกว่า แบบนี้มันไม่มีคุณค่า

Taylor Swift ประกาศหย่าขาด Spotify

ก่อนหน้านี้ Taylor เองก็เป็นศิลปินที่มีเพลงอยู่ใน Spotify ไม่ต่างจากศิลปินอีกเกือบครึ่งโลก แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอประกาศถอนเพลงทั้งหมดออกจาก Spotify หยุดให้บริการเพลงในรูปแบบ streaming แบบนี้แล้ว ด้วยเหตุว่ารายได้นั้นไม่คุ้มเอาซะเลย เหตุการณ์นี้ก็เกิดแรงกระเพื่อมสนั่นวงการเลยทีเดียว ทาง Spotify ก็ออกมาย้อนว่ามันไม่ได้น้อยแบบนั้น CEO บอกว่าเราจ่ายให้ศิลปินทั้งหมดมามากกว่า 6 หมื่นล้านบาทแล้วนะ (iUrban ขอแปลงตัวเลขจาก US Dollar เป็น TH Baht โดยประมาณเพื่อความง่ายต่อการจินตนาการ) แถม Spotify ยังต้องจ่ายให้ Taylor Swift เองตั้ง 190 ล้านบาท เพื่อการต่อสัญญาเช่าเพลงทั้งหมดของเธอใน 12 เดือนข้างหน้านี้ ทั้งที่ถ้านับเงินจากการกดฟังต่อครั้งของลูกค้าใน US เธอเองทำเงินให้ Spotify ไม่ถึง 16 ล้านด้วยซ้ำไป (ชั้นขาดทุนนะ) – ฝั่ง CEO Spotify เขาก็เคลมแบบนั้น

ผมว่าในส่วนของตัวเลข เราก็ไม่อาจรู้จริงเท็จ เพราะผู้จัดการ Taylor Swift ก็บอกว่า มันไม่ใช่เลย พูดอะไรกัน ตัวเลขขนาดนั้น ชั้นคงจะสบายไปนานแล้วเฮ้ย! – Taylor จะโดนเอาเปรียบจริงรึเปล่า หรืออาจจะเป็นเพียงการสร้างกระแสโปรโมตอัลบัมใหม่ “1989” ของเธอรึเปล่า? ก็ไม่สามารถเดาได้ แต่ผมคิดเอาเองว่า ถ้าใครจะสร้างกระแสอะไร ก็คงไม่สร้างกระแสกับการตัดช่องทางหาเงินของตัวเองแบบนี้หรอก ถ้ามันได้เงินคุ้มจริง

1989
1989 อัลบัมใหม่ของ Taylor Swift

Untitled-1วงการเพลงเองก็ไม่ได้มีแต่สายปฏิวัติเสมอไป ไม่มีที่ไหนที่คนจะเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด Dave Grohl หัวหน้าวง Foo Fighter พูดว่า “You want people to fucking listen to your music? Give them your music.” และ “And then go play a show. They like hearing your music?” แปลเป็นไทยลวกๆก็ประมาณว่า จะอะไรมากมาย ถ้าอยากให้คนฟังเพลงมึง มึงก็ไปร้องเพลงโชว์สิวะ พวกเค้าอยากฟังเพลงมึงป่าวละ? งานนี้จะเรียกว่าเกาะ Taylor Swift ดัง หรือเป็นตัวของตัวเองก็แล้วแต่แฟนๆจะพิจารณากันเอง

ความคิดเห็นของแต่ละคน เราเองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า อะไรจริง อะไรอารมณ์ แต่ว่าในเมื่อ iUrban เองก็เป็นคนฟังเพลง เราอาจจะไม่ได้มีความรู้จริงเท่ากับกูรูที่เราจะขอไปสัมภาษณ์ให้อ่านกันต่อไปนี้

jetboatJetboat มองเกม
คุณวรทรรศน์ วงษ์ไทย หรือ @jetboat26
หนึ่งในกูรูด้านดนตรีบนโลกออนไลน์

 

iUrban: พี่โบ้ทมีมุมมองกับเหตุการณ์นี้ยังไงครับ?

Jetboat: ว่ากันตรงๆคือ Taylor Swift กำลังอยู่ในขาขึ้น มีอำนาจต่อรอ เธอเลยกล้าพูดในสิ่งที่นักดนตรีหลายคนไม่กล้าพูด กระแส streaming มันมาเร็วมากไง

คืออย่างตอน itunes นี่คือการปฎิวัติการขายเพลงสู่ระบบดิจิทัลเต็มตัว ค่ายเพลงโอเค ไม่ตองสต๊อค ศิลปินโอเค เพราะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ทำรายได้เรื่อยๆ ส่วนแบ่งจาก itunes ก็ไม่เลวนัก แล้วโมเดลอย่าง iTunes หรือ Amazon มันไม่ได้ทำลายราคาตลาดนะ

บางโมเดลก็เอื้อต่อคนที่ซื้อแผ่น เช่น เออ เอามารับเพลงพิเศษ หรือว่าจ่ายเพิ่มนิด เพื่อแลกกับเพลงบน cloud มันก็ winwin สำหรับยุคที่เพลงเป้น digital content แบบกินยาว

แต่เดี๋ยวก่อน..สมมุติหนึ่งอัลบั้ม ราคาสิบดอลลาห์ แต่ถ้าเงินเท่ากัน มีให้ฟังเป้นหมื่นเป็นแสน คนมันต้องคิดสิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมา ทั้งโมบายล์ ทั้งเน็ตบ้าน เอาล่ะ สบช่องการบริการ streaming music เลย คนที่รวยคือ ตัวกลาง หรือคนทำฮาร์ดแวร์พวกเครื่องเสียงที่รองรับสตรีมมิ่ง คือมันดีขนาดแบรนดืไฮเอนด์ต้องกระโดดลงมาเล่น

แต่รายได้ของศิลปินต่อเพลงนี่ขึ้นอยู่กับาร์กดฟังเลยนะ ถ้าเป้นสตรีมมิ่ง มันคิดเป็นเรทเศษสตางค์เลย

iUrban: คนซื้อ จ่ายยังไงครับ?

Jetboat: จ่ายให้ตัวกลาง อย่าง KKBox หรือ Deezer ผู้กับโอเปอเรเตอร์ หรือ Nokia, Samsung ก็มีสร้างตลาดเพลงออนไลน์ตัวเอง

นี่ก็เป็นเหตุผลที่ Apple ซื้อ Beats Music เพราะยอดกำไรยังดี แต่คนซื้อมันปักหัว อุตสาหกรรมเพลง มันกลับหัวกลับหางอยู่ คือฟากนึงกลับไปสู่ยุคนักสะสม อย่างการกลับมาของไวนิล อีกฟากคือ ขอฟังบุฟเฟต์ในราคากาแฟแก้วเดียว ยอดคนที่ซื้อลดลง แต่คนไปจ่ายแบบสตรีมสุงขึ้น อย่าง Twitter Music ก้พยายามมาต่อกร หรือขนาด Google ยังต้องเขยิบมาใช้ model แบบเดียวกันเลย กระแสมันแรงมาก

kkbox deezer

 

iUrban: พูดได้ว่า ระบบสตรีมพวกนี้ คนฟังคุ้มค่ากว่ามากกว่ารึเปล่า?

Jetboat: เวลาท้องหิว ข้าวจานนึงกับบุฟเฟ่ต์ราคาเท่ากัน จะกินอันไหนถูกป่ะล่ะ

แต่ศิลปินเขาก็คงมีอัตตาของเขาอยู่ แบบเห็นคุณค่างานชั้นนิดนึง Spotify เองก็มีแววจะมาไทยอยู่ แต่ชนวนเรื่องตัวเลขก้น่าคิด คือ Spotify บอกว่า Taylor Swift ได้เงินไปหกล้านหรียญจากบริการนั้นทั้งปี แต่ผู้จัดการเธอบอกว่า ได้ต่ำกว่านั้นมาก ศิลปินหลายคนกำลังพยายามกลับไปสุ่รากเหง้าของดนตรีเชิงพาณิชย์ในยุคก่อน ไม่ได้ฟังแบบฉาบฉวย


 

c9966ece2caaacf1106a3c2fe21b93e3_400x400OverConda กึ่งยิงกึ่งผ่าน
คุณศุภจิต พันกมลศิลป์ หรือ @OverConda
นักดนตรีไทย ที่พันทิพย์รุ่นดึก รู้จักกันดี

iUrban: ในฐานะศิลปิน พี่เว่อร์คิดยังไงกับการหารายได้แบบดิจิทัลครับ

OverConda: ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่ายังไม่ได้เป็นศิลปินครับ เป็นแค่คนที่ชอบและรักในเสียงดนตรีแค่นั้นอยู่เลยครับ แหะๆๆๆ (เล่นเพลง Cover ในนาม OverPle)

สำหรับการหารายได้แบบดิจิทัล ผมว่ามันคือการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยครับ ซึ่งวงการเพลงมีการปรับกันเรื่อยมา แผ่นเสียงไวนีล > เทปคาสเส็ตต์ > ซีดี > ดิจิทัล (และตอนนี้บางส่วนก็หวนกลับไปหาแผ่นไวนีลอีกละ แต่มันดีจริงๆ นะ เคยได้ยินเพลงเมดอินไทยแลนด์ของคาราบาวในร้านเครื่องเสียง .. โห ต่างจากที่เคยได้ยินมาทั้งชีวิตเลย เพราะน้ำตาเล็ดเลยครับ)

ผมว่าพูดเกริ่นๆ ไปหลายๆ ท่านก็คงรู้กันนั่นแหละครับ ว่ามันเหมาะมันควรอยู่แล้วล่ะ เพราะอย่างนั้นเพราะอย่างนี้ ผมเลยจะขอพูดในแง่ของคนที่เคยสัมผัสกับด้านการผลิตเพลง การเอาเพลงขึ้นให้ดาวน์โหลดกับ iTunes กันดีกว่าครับ

ค่ายเพลงเล็กใหญ่หรือแม้แต่ศิลปินที่เพิ่งทำเพลงหรือไม่อยู่ค่ายใดๆ ก็สามารถนำเพลงของตัวเองขึ้นให้ดาวน์โหลดบน iTunes ได้ (มีเงื่อนไขนิดๆ หน่อยๆ) เรายังไม่ต้องพูดถึงการทำลายกำแพงราคา แต่แค่นี้เราก็เห็นแล้วว่ามันทำลายกำแพงของการเผยแพร่ผลงาน

ในหนังเรื่อง Begin Again เมื่อกลางปี 2557 ที่ผ่านมา ที่หลายคนชื่นชอบ จะค่อนข้างเห็นภาพนี้ชัดมาก ศิลปินพยายามพาตัวเองไปอยู่กับค่าย เพื่อผ่านการโปรโมท มีโปรดักชั่นที่ดีเลิศ แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบรับจากค่ายเพลง จึงตัดสินใจทำงานเพลงกันเอง ผ่านโปรดักชั่นที่ไม่ได้ดีเลิศนัก แผ่นกันป๊อปที่เค้าใช้กันในห้องอัด ก็ยังใช่ถุงน่องขาดๆ มาขึงเลย (ดูในเพลง Coming Up Roses http://www.youtube.com/watch?v=nlp7ywUD8wc )

https://www.youtube.com/watch?v=nlp7ywUD8wc

เมื่องานเพลงเสร็จก็นำเพลงให้ขึ้นดาวน์โหลด และด้วยแรงกระเพื่อมของศิลปินดังที่พระเอกเคยโปรดิวซ์ให้จนโด่งดังที่ช่วย Tweet ข้อความว่า “เฮ้ ฟังเพลงเหล่านี้สิ เพราะนะตัวเธอ” เท่านั้นแหละ ผลงานเพลงของคนที่ไม่มีค่ายเพลง ที่ทำกันเอง ก็ได้รับการดาวน์โหลดอย่างมหาศาล

นอกเรื่องครับ ตัวผลงาน Physical ของเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ก็ขาดตลาดในทันทีที่หนังออกฉาย ใครอยากได้ต้องสั่งจอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้น้อยมาก ผมเองต้องเดินเข้าออกร้านบูมเมอแรงอยู่ถึง 2 สัปดาห์กว่าจะได้แผ่นมาฟัง.. แต่ก่อนหน้านั้นดาวน์โหลด iTunes มาไว้ก่อนแล้วครับ นอกจากนี้ Adam Levine แห่งวง Maroon5 ซึ่งแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย ยอมไม่รับค่าตัวการแสดง แต่ขอให้บริษัทของเค้าเข้ามาดูแลการจัดจำหน่ายเพลงประกอบหนัง ซึ่งเค้าคงมองเห็นแล้วว่าเพลงมันดีจริงๆ และตัวหนังเองคงส่งให้เพลงได้รับการดาวน์โหลดอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นจริงครับ ผมว่างานนี้ Adam ได้สิ่งที่มากกว่าค่าตัวการแสดงเยอะเลยครับ อย่างน้อยก็ได้เงินจากผมไปด้วยล่ะ อิอิ

วกกลับมาเรื่องเดิม สัปดาห์ที่แล้วเราคงไม่พลาดปรากฏการณ์ “ขีดเส้นใต้” กันใช่ไหมครับ เพลงนี้พวกเราก็รู้อยู่ว่ามีมานานแล้ว ไพเราะมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น ตัวเพลงก็อยู่บน Digital ที่ถูกเอาขึ้นตามระบบ และก็นอนนิ่งอยู่อย่างนั้น จนเมื่อรายการ The Voice นำเพลงนี้มาร้อง และตบท้ายด้วยศิลปินตัวจริงที่เป็นพิธีกรของงานมาร้องเพียงแค่นาทีกว่าแค่นั้นเอง กลายเป็นการปลุกเพลงนี้ขึ้นมาอย่างมากมาย จนได้ยอดดาวน์โหลดเป็นอันดับ 1 ของ iTunes อย่างไม่น่าเชื่อ

ตอนที่แคปภาพพ้นช่วงกระแสเพลง "ขีดเส้นใต้" มาเป็นสัปดาห์แล้ว เลยตกมาเป็นอันดับ 2 ครับ / ทีมงาน
ตอนที่แคปภาพพ้นช่วงกระแสเพลง “ขีดเส้นใต้” มาเป็นสัปดาห์แล้ว เลยตกมาเป็นอันดับ 2 ครับ / ทีมงาน

ที่อธิบายข้างต้นมาสองสามตัวอย่าง จะเป็นยกเหตุการณ์จริงมาเล่าให้ฟังว่าท้ายที่สุดแล้ว การมีงานเพลง Digital อยู่ในระบบให้พร้อมดาวน์โหลดนั้น เป็นเรื่องดีแน่นอน เรื่องดีมีหลายเรื่อง คือ แผ่นไม่เน่า ไม่แตก ไม่เสีย ไม่ต้องคืนแผ่นเพื่อเอาแผ่นใหม่มา วางแช่ได้ตลอดกาล อยู่ที่ไหนในโลกที่มีเน็ตก็โหลดมาฟังได้ ไม่ต้องพิมพ์ปก ไม่ต้องปั๊มแผ่น โปรโมทผ่าน Social Network ได้ หากเกิดปรากฏการณ์ขึ้นมา ก็พร้อมจะยกตัวเองขึ้นสู่สถิติการดาวน์โหลดสูงสุดได้ทุกเวลา.. เหล่านี้เป็นต้น

สรุปคือ ยังไงก็ดีแน่นอนครับ สำหรับทั้งศิลปินโนเนม หรือศิลปินใหญ่ หากมีช่องทางการหารายได้ทางดิจิทัล ทำเถอะครับไม่ผิดหวัง และไม่เสียอะไรจนเจ็บปวดเลยครับ

iUrban: ช่องทางไหน ที่จะเป็นการสนับสนุนศิลปินไทยจริงๆ

OverConda: ประเทศไทยนั้นอย่างที่ทราบกันดีกว่าก่อนหน้านี้มีแผ่นผีหลังจากนั้นก็เป็นการดาวน์โหลดโดยไม่ต้องไปซื้อแผ่น

ศิลปินรวมถึงค่ายเพลงก็สะดุดมาร่วมสิบปี จนหลังๆ ระบบดิจิทัลเกิดขึ้นมา ก็เริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากการที่ Apple พยายามปรับพฤติกรรมของคนฟังเพลงด้วย iTunes ซึ่งแรกๆ ก็จะมีเฉพาะแฟนพันธุ์แท้หรือคนที่มี Royalty ในร่างกายเท่านั้นที่จะซื้องานเพลงผ่าน iTunes แต่หลังๆ เนื่องจากความง่ายของมัน และราคาของมันที่ซื้อแยกเพลงเฉพาะที่เราชอบก็ได้ ราคาจุ๋มจิ๋ม โดยมากไม่ถึง 30 บาทด้วยซ้ำ ก็เลยซื้อกันง่ายหน่อย (แม้ว่าราคาโดยรวมจะพอๆ กับซื้อแผ่นแท้ที่ร้านก็ตาม)

ในปัจจุบัน เพลงไทยมีขายใน iTunes เหมือนเป็นช่องทางปกติไม่ต่างจากแผงเทปแล้ว
ในปัจจุบัน เพลงไทยมีขายใน iTunes เหมือนเป็นช่องทางปกติไม่ต่างจากแผงเทปแล้ว

บ้านเรานั้นก็เหมือนกับโลกคือมีการดาวน์โหลด นำหัวเรือโดย iTunes และอีกช่องทางคือ Streaming ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่ามี Deezer กับ KKBox อย่างหลังนี้ผมไม่ทราบผลตอบแทนมากนัก แต่ก็ได้ยินเจ้าของค่ายเพลงที่รู้จักกันพูดถึงอยู่เสมอว่าหากได้ Vendor ของการดาวน์โหลดที่ไม่ดีแล้วนั้น รายได้จากการฟังจาก Streaming ยังได้ดีเสียกว่า ได้อย่างต่อเนื่องด้วย (มาถึงตรงนี้ผมนึกออกว่าลืมพวกดาวน์โหลดโดยกด * ไปเลย ซึ่งผมว่ายังใช้ได้กับคนกลุ่มหนึ่ง และเดาว่าคงลดลงเรื่อยๆ)

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการดาวน์โหลดดิจิทัลนั้นคงยังไม่ได้ทางออกนัก เพราะเราสามารถดึงคนที่ชอบโหลดเพลงฟรีฟังเพลงผีกันไม่ได้มากนัก ที่ทำกันอยู่ก็แค่ทุเลาและปลอบใจค่ายเพลงและศิลปินกันเท่านั้นเอง และหากวันใดที่มันเป็นเหมือนเก่า วันที่เราเฝ้ารอผลงานเพลงวางแผง (ลงอินเทอร์เนต) รอซื้อมาฟังวันแรก หากเราทำให้พฤติกรรมเหล่านี้กลับคืนมาเหมือนเรารอผลงานเพลงของพี่เบิร์ด ใหม่เจริญปุระ คริสติน่า หินเหล็กไฟ เฉลียง พงษ์พัฒน์ คาราบาว พงษ์สิทธิ์ วางแผงแล้วไปซื้อวันแรก หากเราทำได้แบบนั้นแล้ว ผมว่าหนทางแจ่มใสของวงการเพลงไทยครับ แต่มันยากมากนะครับ หากเราเจอกับการเสพฟรีเข้าไปแล้ว หลายคนคงถอนตัวได้ยาก

แต่มีนะครับ คนเฝ้ารอโหลดเพลงแท้ .. คนเหล่านั้นรอโหลดแล้วเอามาปล่อยฟรีครับ คนเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยการชื่นชมว่าเป็นคนใจดีและยอดไลค์โดยไม่สนใจว่าเจ้าของเพลงจะได้รับอานิสงค์ด้วยไหม … ผมเคยทำเพลงนึง ผมเนี่ย ไม่มีใครรู้จักเลย ออกเพลงปุ๊บ ไม่กี่ชั่วโมง มีให้ดาวน์โหลดฟรีแล้ว .. โห พวกคุณสุดยอดมากครับ ผมงี้ขึ้นเลย!!


 

RockdaworldRockdaworld ผู้บริหารหัวใจพันธุ์ร็อค
คุณรณพงศ์ คำนวณทิพย์ หรือ @RockDaWorld
ผู้บริหาร Universal Music Thailand

โมเดลการหารายได้ของศิลปินระดับโลกยุคใหม่ เป็นยังไงบ้างครับ?

Rockdaworld: ตอนนี้หลักๆก็มี

  1. Ala carte download เช่น iTunes
  2. Streaming
    2.1 Subscription – เช่น Deezer, Spotify
    2.2 Ad-Funded เช่น youtube
  3. Sponsorship (exclusive) Model เช่น U2 กับ apple

วงการเพลงไทยก็ไม่ต่างกันครับ ถ้าพูดถึง Recorded Music (ตัวเพลง – สื่อบันทึกเสียง)

iUrban: การหารายได้ของวงการเพลงแบบไหนที่เวิร์คที่สุดครับ?

Rockdaworld: ผสมผสานครับ ศิลปินรายใหญ่จะขาย E-Album ได้ดี

(รายใหญ่ แบบ Taylor, Maroon 5, Lady Gaga), Streaming (แบบ PSY และอื่นๆ), นอกจากนี้รายได้หลักคือ โชว์คอนเสิร์ต และอื่นๆ คือ งาน Endorsement (โฆษณาผลิตภัณฑ์), Merchandise และอื่นๆครับ

iUrban: กรณี Taylor Swift มีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ?

Rockdaworld: นับว่าครบเครื่องจริงๆนะ ผญ.คนนี้

ทั้งแต่งเพลง เล่น ร้อง จนกลายเป็น Teen Idol ล่าสุดยอมฉีกรูปแบบเดิม ผันตัวมาเป็นป๊อบเต็มรูปแบบ นับว่าเสี่ยงมาก แต่เธอกล้า และก็มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จล้นหลาม

แถมยังกล้างัดข้อกับเจ้าพ่อ Streaming ยักษ์ใหญ่อย่าง Spotify อีก ไม่ธรรมดาจริงๆผู้หญิงคนนี้


 

taylorswift2

ทีมงาน iUrban ต้องขอบคุณพี่ๆทั้งสามท่านที่เป็นเกียรติอย่างมาก สำหรับการสละเวลาให้ความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์ร่วมให้ผู้อ่านกับพวกเรา

สุดท้ายนี้ คุณมีความเห็นเรื่อง Taylor Swift กับ Spotify อย่างไร ก็คงต้องแล้วแต่วิจารณญานของแต่ละท่านแล้วละครับ แต่ไม่ว่าคุณเข้าข้างไหน การสนับสนุนศิลปินที่คุณชื่นชอบด้วยการซื้อเพลงถูกลิขสิทธิ อาจจะไม่ได้ทำเงินให้ศิลปินเป็นกอบเป็นกำ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นกำลังใจให้ทั้งศิลปินไม่ว่าจะต่างชาติหรือศิลปินไทย เพื่อให้พวกเขาได้มีพลังพอที่จะสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมาให้เราได้มีความสุขเมื่อสัมผัสศิลปะของดนตรีกันต่อไปครับ

ดนตรี ไม่ใช่เพียงแค่ศาสตร์หนึ่งของความบันเทิง แต่อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคอดีตกาล สามารถสร้างความฮึกเหิมให้ก่อนการรบ หรือแม้แต่กล่อมเกลาอารมณ์ให้อ่อนโยน แม้แต่ในห้วงที่เรามีความรัก หรือแม้แต่อกหัก เราทุกคนก็คงสัมผัสถึงพลังของดนตรีได้ด้วยตัวเอง ใช่ไหมครับ? :)

เว็บเราใช้คุ้กกี้เพื่อให้ท่านได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ และสามารถเลือกอนุญาตคุกกี้เองได้ที่ ตั้งค่าคุกกี้

Privacy Preferences

เมื่อท่านเข้าชมเว็บไซต์ของเรา อาจมีการจัดเก็บหรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของท่านในรูปแบบของคุกกี้ ข้อมูลนี้อาจเป็นข้อมูลเกี่ยวกับท่าน การตั้งค่าของท่าน อุปกรณ์ของท่าน ซึ่งจะถูกใช้เพื่อทำให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้ตามที่ท่านต้องการ ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ระบุตัวตนของท่านโดยตรง แต่ช่วยให้ท่านสามารถใช้งานเว็บไซต์แบบเฉพาะสำหรับท่านได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของท่าน โดยท่านสามารถเลือกปฏิเสธไม่ยอมรับให้คุกกี้บางประเภททำงานได้ ซึ่งท่านสามารถคลิกที่หัวข้อแต่ละประเภท เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนการตั้งค่าได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกปิดการใช้งานคุกกี้บางประเภทอาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานเว็บไซต์และบริการที่เราเสนอให้แก่ท่านได้ ข้อมูลเพิ่มเติม

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จําเป็นสําหรับการทํางานของเว็บไซต์ (Strictly necessary cookies)
    Always Active

    คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการทำงานของเว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่ทำให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานในเว็บไซต์ของเราได้อย่างปลอดภัย ส่วนนี้จะไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้ที่ช่วยในการใช้งาน (Functional Cookies)

    เราใช้ Cookies ประเภทนี้เพื่อช่วยจดจำอุปกรณ์หรือบราวเซอร์ของท่าน เพื่อให้เราสามารถจัดทำเนื้อหาได้อย่างเหมาะสมกับความสนใจส่วนบุคคลของท่านได้รวดเร็วขึ้น และช่วยให้การบริการและแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกสบายและเป็นประโยชน์ต่อท่านมากยิ่งขึ้น

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์เชิงสถิติ (Analytics Cookies)

    เราใช้ Analytics Cookies ที่ให้บริการโดย Google ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานของท่านบนเว็บไซต์ของเรา โดยข้อมูลนี้ประกอบไปด้วย หน้าเว็บไซต์ที่ท่านเข้าชม ลิงค์ที่ท่านคลิก ระยะเวลาที่ท่านเข้าชมในแต่ละหน้า โดยเราใช้ข้อมูลนี้เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ และเพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    เราใช้คุกกี้ประเภทนี้จดจำการตั้งค่าของท่านในการเข้าใช้งานหน้าเว็บไซต์ หน้าเว็บที่ท่านได้เยี่ยมชม และลิงค์ที่ท่านเยี่ยมชม เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเข้าชมและพฤติกรรมการเยี่ยมชมเว็บไซต์และยังปรับปรุงเว็บไซต์ รวมทั้งเนื้อหาใดๆ ซึ่งปรากฏอยู่บนหน้าเว็บให้ตรงกับความสนใจของท่านมากยิ่งขึ้น และทดสอบความมีประสิทธิภาพของโฆษณาเรา และนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุดเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ เรายังอาจแชร์ข้อมูลนี้ให้กับบุคคลที่สามเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
    Cookies Details

บันทึกการตั้งค่า